สุขภาพจิตเป็นรากฐานของสุขภาวะ และการทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพสำหรับบุคคลและสังคม โดย องค์การอนามัยโลก ได้ให้คำนิยามว่า “สภาพสุขภาวะที่บุคคลรับรู้ศักยภาพของตน สามารถรับมือกับความเครียดในชีวิต สามารถทำงานให้เกิดประโยชน์และสร้างสรรค์ และสามารถทำประโยชน์ให้แก่สังคมของตนได้”
“ความเครียด” เกิดจากการตอบสนองของฮอร์โมนคอร์ติซอลที่ร่างกายหลั่งเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายอยู่ในสภาพตื่นตัวตลอดเวลาเมื่อมีเรื่องกังวลใจ หากเกิดความเครียดบ่อยๆ ร่างกายอาจหลั่งคอร์ติซอลออกมามากเกินไป ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรค NCDs ต่างๆ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด เป็นต้น ตลอดจนเกิดภาวะซึมเศร้าได้
ล่าสุด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรา อภิลักษณ์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้คิดค้นชุดตรวจฮอร์โมนคอร์ติซอลแบบพกพา จากผลงาน “ชุดทดสอบอิมมูโนโครมาโทกราฟีแบบแข่งขันร่วมกับระบบขยายสัญญาณด้วยซิลเวอร์สำหรับตรวจวัดปริมาณคอร์ติซอลในน้ำลาย” (Competitive Immunochromatographic Test Strip with Silver Enhancement System for Cortisol Detection) โดยเป็นผลงานที่ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประเภทรางวัลประกาศเกียรติคุณในงานวันนักประดิษฐ์ ปี 2563 ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรา อภิลักษณ์ กล่าวว่า ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลสามารถตรวจวัดได้จากเลือด ปัสสาวะ และน้ำลาย ซึ่งชุดตรวจฮอร์โมนคอร์ติซอลแบบพกพาที่คิดค้นนี้จะมีลักษณะคล้ายชุดทดสอบการตั้งครรภ์ ซึ่งออกแบบให้ใช้งานง่าย โดยการหยดน้ำลาย และน้ำยาขยายสัญญาณ จากนั้นดูผลเทียบสี ซึ่งลักษณะผลที่ได้จะเป็นแบบแข่งขัน กล่าวคือมีลักษณะการแปลผลที่ตรงกันข้าม โดยสีที่อ่อนจะหมายถึงการมีฮอร์โมนคอร์ติซอลในปริมาณที่สูง สีที่เข้มหมายถึงการมีฮอร์โมนคอร์ติซอลในปริมาณที่ต่ำซึ่งการตรวจสามารถทำได้ในช่วงเช้าก่อนแปรงฟัน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลระดับสูง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรา อภิลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า ในอนาคตจะมีการใช้ชุดตรวจฮอร์โมนคอร์ติซอลแบบพกพาที่คิดค้นนี้กับผู้มาใช้บริการ ณ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic Health and Wellness Centre) คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อการนำไปสู่สุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (Well-being) จากการตรวจสุขภาพแบบองค์รวมที่นอกเหนือไปจากการวิเคราะห์คลื่นสัญญาณไฟฟ้าสมอง และกิจกรรมเพื่อการผ่อนคลายต่างๆที่ช่วยลดอุบัติการณ์ภาวะโรคซึมเศร้า ซึ่งได้แก่ กิจกรรมศิลปสุนทรีย์ (Art relaxation) กิจกรรมกายสุนทรีย์ (Body relaxation) กิจกรรมดุริยะสุนทรีย์ (Music relaxation) และกิจกรรมวิญญสุนทรีย์ (Soul body relaxation)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดลติดต่อโทร. 0-2441-4371-5 ต่อ 2202 E-mail: mumtpr@mahidol.edu