วันที่ 10 มีนาคม 2563 ณ ห้องคอนเวนชั่น โรงแรมสยามริเวอร์ รีสอร์ท อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และนางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือ (MOU) กับผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ นายณรงค์ วุ่นซิ้ว พร้อมด้วย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดชัยภูมิ นางวันดี วุ่นซิ้ว นายราชันย์ ซุ้นหั้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัด นางมัณฑนา สงวนวงศ์ชัย คณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดชัยภูมิ คณะกรรมการพัฒนาสตรีอำเภอ และสมาคมผู้นำสตรีพัฒนาชุมชนจังหวัดชัยภูมิ ร่วมลงนามความร่วมมือ โดยมี นางบุญยิ่ง เทศน้อย ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน เขตตรวจราชการที่ 13 กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 และพัฒนาการจังหวัดชัยภูมิ ร่วมเป็นพยาน โดยก่อนลงนามได้มีการฉายวีดีทัศน์โครงการ “สตรีอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทยชัยภูมิ” และการแสดงชุด “ตำนานผ้าไหมชัยภูมิ” ปิดท้ายด้วยการชื่นชมความงามผ้าไทยของจังหวัดชัยภูมิ ด้วยการเดินแฟชั่นโชว์ผ้าพื้นอัตลักษณ์และผ้าไหมจากทั้ง 16 อำเภอของจังหวัดชัยภูมิ โดยมีคณะกรรมการพัฒนาสตรีและผู้แทนจากทุกอำเภอร่วมเดินแบบเพื่อโชว์ความสวยงามของผ้าพื้นถิ่นของอำเภอและผ้าไหมซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของจังหวัดชัยภูมิ รวมถึง “ผ้าไหมลายหมี่คั่นขอนารี” ซึ่งเป็นการผสมผสานลายหมี่คั่นโบราณเข้ากับลายหมี่ขอนารี เกิดเป็นลายผ้าที่สวยงามอันเป็นลายอัตลักษณ์ของจังหวัดชัยภูมิ มาจวบจนทุกวันนี้
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ สภาสมาคมสตรีแห่งชาติราชินูปถัมภ์ฯ ตั้งแต่ พ.ศ. 2504 ทำให้สภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ได้ดำเนินงานในโครงการแรกเริ่ม คือ “โครงการติดตามรอยผ้าไทยลมหายใจแม่ของแผ่นดิน” จนมาถึงโครงการที่ 2 คือโครงการนี้ โครงการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน ที่ได้รณรงค์ให้ทั่วประเทศไทยได้ภาคภูมิใจในคุณค่าของผ้าไทย และอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดินสืบไป ดังนั้นจึงขอให้ทุกคนภาคภูมิใจในการแต่งกายผ้าไทย โดยเฉพาะชาวชัยภูมิขอให้ภูมิใจและรักษาอัตลักษณ์ผ้าไทยอันโดดเด่นของชาวชัยภูมิต่อไป
ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ขอชื่นชมชาวจังหวัดชัยภูมิได้ช่วยสะท้อนให้เห็นถึงความสมัครสมานสามัคคี จากที่ได้เห็นการมีศิลปวัฒนธรรมที่ยังคงรักษา สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ อาทิ การรำถวายเจ้าพ่อพญาแล รำสาวบ้านแต้ ด้วยการนำของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ประกอบกับความเข้มแข็งขององค์กรสตรี การรณรงค์ส่งเสริมผ้าไทยที่จังหวัดชัยภูมินั้น จะช่วยให้อนาคตของผ้าไทยที่จังหวัดชัยภูมิยังคงมีชีวิตยืนยาวสืบทอดสู่ลูกหลานรุ่นต่อรุ่น ไปอีกยาวนาน สมดั่งที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ท่านได้ทรงทุ่มเทอุทิศพระวรกาย พระสติปัญญา และพละกำลัง กว่า 60 ปีในการที่จะช่วยต่ออายุให้ผ้าไทยในประเทศนี้ดำรงอยู่ต่อไป ให้เกิดความมั่นใจได้ว่าสิ่งเหล่านี้จะยังคงเป็นมรดกที่บรรพบุรุษของเราได้ถ่ายทอดไว้ จะไม่สูญหาย ผ้าไทยของชัยภูมิจะยังคงดำรงคงอยู่ คู่กับโลกตลอดไป ที่สำคัญคือการสวมใส่ผ้าไทยจะก่อให้เกิดการกระจายรายได้ทางเศรษฐกิจในครอบครัว ชุมชนและท้องถิ่นของเรา ถ้าครอบครัวไหนที่สามารถปลูกฝ้าย และทอผ้าเองได้ ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่าย ซึ่งทางจังหวัดชัยภูมิมีผู้ประกอบการ/กลุ่มสตรีที่ทอผ้ารวมกันมากกว่า 2,000 กลุ่ม ทั้งรายเล็กรายใหญ่ ทำให้เกิดรายได้จุนเจือครอบครัว และหากมีประชากร 35 ล้านคนที่หันมาสวมใส่ผ้าไทย จะก่อให้เกิดรายได้คิดง่าย ๆ จากถ้าซื้อเพิ่มอีก 1 ชุด ต้องซื้อผ้าเพิ่มอีกคนละ 1 เมตร ก็จะเป็น 35 ล้านเมตร ถ้าคิดมูลค่าเป็นเมตรละ 300 บาท จะได้เงินมากกว่า 105,000 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ก็จะหมุนเวียนอยู่ในชุมชนในท้องถิ่นอยู่ในครอบครัวทั้งคนปลูกฝ้ายปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทั้งคนที่ทอผ้า รวมถึงคนที่มีอาชีพเย็บจักรถักเสื้อผ้าประดิษฐ์ประดอยเป็นเครื่องประดับต่าง ๆ กระจายไปยังกลุ่มค้าขายอื่น ๆ คุณประโยชน์เหล่านี้มีค่าไม่ใช่แค่ตัวเลขที่เป็นตัวเงิน แต่มีความสำคัญที่สุด คือ คุณค่าทางจิตใจที่ได้สืบสาน รักษา ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ
สุดท้ายขอฝากอีกหนึ่งเรื่องที่เป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน คือปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เราทุกคนต้องช่วยกัน โดยเริ่มต้นที่ตัวเราเอง คือ การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาใช้เป็นแนวปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และขอให้รวมกันบูรณาการทุกหน่วยงานภาคส่วนในการช่วยเหลือ ช่วยกันทำให้ทุกบ้านทุกครัวเรือน และทุกคนของจังหวัดชัยภูมิ ปลูกพืชผักสวนครัว ผักที่กินได้ หรือจะเลี้ยงเป็ด/เลี้ยงไก่/เลี้ยงกบ/เลี้ยงปลา เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงให้แก่ตนเองในด้านอาหาร มีการบริหารจัดการในที่ดินของตนเองในรูปแบบโคกหนองนาโมเดล รวมถึงการบริหารจัดการขยะ ขอให้เพิ่มถังขยะเปียกลดโลกร้อน เพื่อไม่ให้ขยะของเราเป็นมลพิษช่วยลดภาวะโลกร้อนอีกทางหนึ่ง