วันที่ 23 มีนาคม 2563 เวลา 9:30 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้แทนกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) และ นายวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ ประธาน OTOP เทรดเดอร์ (ประเทศไทย) ร่วมกับ นายภาณุพล รัตนกาญจนภัทร ผู้อำนวยการองค์การตลาด ผู้แทนองค์การตลาด (อต.) ร่วมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการสินค้าชุมชน สู่ชุมชน เพื่อชุมชน เพื่อสร้างรายได้ผ่านการสร้างตราสินค้า”อต. Select” โดยมี นางวิไลวรรณ ไกรโสดา รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และนายวิทยา ทรัพย์เย็น รองผู้อำนวยการองค์การตลาด และ ณ ห้องประชุมใหญ่ชั้น 3 องค์การตลาด สำนักงานใหญ่ ตำบลสวนผัก ซอย 4 เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ
บันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ผลิตสินค้าโอทอป ให้มีช่องทางการจำหน่ายผลผลิตที่เพิ่มขึ้น มีการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และมีการพัฒนามาตรฐานคุณภาพผลผลิตที่ดี และเป็นการส่งเสริมให้สินค้าดังกล่าวได้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมากขึ้น
โดยองค์การตลาด กรมการพัฒนาชุมชนและบริษัท โอทอปอินเตอร์เทรดเดอร์ (ประเทศไทย) จำกัด จะร่วมกันพัฒนาและออกแบบรูปแบบการดำเนินงานในระบบการบริหารจัดการของการดำเนินโครงการ โดยสรรหาผู้เข้าร่วมโครงการที่เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และหรือผู้ประกอบการผู้ผลิตสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน และผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย พร้อมสนับสนุนทรัพยากรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตามความเหมาะสมเพื่อให้โครงการดังกล่าวเกิดความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ โดย
นายสุทธิพงษ์ อธิบดีฯ พช. กล่าวถึงความร่วมมือว่า ขอบคุณองค์การตลาดที่กรุณาเป็นธุระในการที่ริเริ่มในการที่จะทำให้กลุ่มผู้ประกอบการ OTOP ได้มีความเข้มแข็งทั้งระบบครบวงจรชีวิตของการทำมาหากิน 20 ปีที่ผ่านมากรมการพัฒนาชุมชนได้ช่วยสร้างความเข้มแข็งในเรื่องของการผลิตให้พี่น้องประชาชน นับถึงปัจจุบันกว่า 87,000 กลุ่ม ก็คือผลิตสินค้า OTOP ที่หลากหลาย หลาย sector นับแสนรายการ ทั้ง 5 ประเภท ประกอบด้วย ประเภทอาหาร ประเภทเครื่องดื่ม ประเภทผ้าเครื่องแต่งกาย ประเภทของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก และประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร
ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จ ในฐานะที่กรมการพัฒนาชุมชนได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในการทำให้ผู้ประกอบการ OTOP มีความเข้มแข็งสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดี และกรมฯ ยังได้มีการส่งเสริมในเรื่องของการตลาด เช่น จัดตั้งศูนย์จัดจำหน่ายสินค้า OTOP ตามจังหวัดต่างๆ จัดตลาด OTOP ที่เป็นระดับชาติ OTOP city, OTOP midyear, ศิลปาชีพ ประทีปไทย โอทอปก้าวไกลด้วยพระบารมี OTOP ภูมิภาคในจังหวัดต่างๆ เป็นต้น ที่ประสบความสำเร็จแต่ยังพบปัญหาในเรื่องของจุดกระจายสินค้า ซึ่งตลาดหรือ event ที่ประสบความสำเร็จมากๆ ก็คือในเรื่องของยอดขาย แต่ส่วนสำคัญที่สุด คือ ทำอย่างไรจะสามารถทำให้พี่น้อง OTOP สามารถพึ่งพาตนเองได้ สามารถดำเนินการเรื่องการตลาดได้ด้วยตนเอง จึงเป็นที่มาของการมี OTOP trader ที่เข้ามาเติมเต็มให้ใช้เวลาไม่ถึง 5 ปี ซึ่ง OTOP trader มีจุดที่น่าภาคภูมิใจสามารถทำยอดจำหน่ายให้กับสินค้าท้องถิ่น สินค้าชุมชนเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดีในเรื่องของการดำเนินการในเรื่องของ OTOP trader จะดำเนินการได้บวกกับสามารถทำให้ผู้ผลิตมีส่วนร่วมในทุกวงจรของธุรกิจ สิ่งสำคัญต้องมีศักยภาพ ในการเพิ่มกำลังการผลิตมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นพอกับความต้องการ ถ้าสินค้านั้นเป็นที่นิยมและมีการกระจายสินค้าที่ดี ซึ่งองค์การตลาดได้ริเริ่มดำเนินการตั้งแต่ 2-3 ปีที่แล้ว ในการเข้าไปทำธุรกิจเพื่อสังคม เช่น ในเรื่องของ free market และโครงการที่จะลงนามในวันนี้ การที่จะทำ 3 ช เป็นเรื่องที่ผู้ผลิตจะมีรายได้มีโอกาสเพิ่มมากขึ้น หมายความว่าทำให้พี่น้องคนไทยและคนทั่วโลกได้มีโอกาสได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพ สินค้าภูมิปัญญาของคนในชุมชนในท้องถิ่นประเทศไทยได้ง่ายมากขึ้น กรมการพัฒนาชุมชนเคยได้เลือกสรรไว้ได้ประมาณกว่า 100 ผลิตภัณฑ์ ลงทุนไป 300 ล้าน แต่ประชาชนอาจจะยังไม่เคยได้พบเห็น การลงนามในวันนี้ก็จะมีส่วนทำให้สินค้าดีๆ เหล่านี้ได้บรรจุลงหีบห่อแล้วสามารถกระจายไปทั่วโลกได้ ขอขอบพระคุณและหวังว่าหลังจากที่ได้ร่วมลงนามกันในวันนี้เราจะช่วยทำฝันของ ทั้ง 3 หน่วยงานและพี่น้อง OTOP ให้เป็นจริงขึ้นมาได้ในเร็ววัน ขอให้การดำเนินงานของพวกเราทั้ง 3 ฝ่ายเป็นประโยชน์ต่อพี่น้อง OTOP และพี่น้องคนไทยทุกคน …อธิบดี พช.กล่าว
นายภาณุพล ผู้อำนวยการองค์การตลาด ได้แสดงความยินดีในการร่วมลงนามครั้งนี้ พร้อมทั้งได้ให้ความห่วงใยในเรื่องของโรคระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา แต่ร้านค้าชำ 300,000 กว่าร้าน ในชุมชนยังเปิดให้บริการอยู่ ซึ่งไม่น่าจะมีอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นก็แปลว่าโครงการนี้สามารถดำเนินการได้โดยไม่ติดอะไร ซึ่งองค์การตลาดและหน่วยงานภาคีเร่งเดินหน้าโครงการสินค้าชุมชน สู่ชุมชน เพื่อชุมชน เพื่อสร้างรายได้ผ่านการสร้างตราสินค้าซึ่งเป็นอีกทางอีกหนึ่งช่องทางการก้าวผ่านสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสดังกล่าวในการหลีกเลี่ยงเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงจังหวัดต่างๆ โดยสามารถเลือกซื้อสินค้าในตลาดโมเดิร์นเทรด ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ และร้านค้าปลีกนับเป็นการช่วยเหลือคนไทยและประเทศชาติซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอันจะส่งผลสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนต่อไป…นายภาณุพล กล่าว
ด้านนายวัชรพงศ์ กล่าวถึงความร่วมมือว่า สำหรับความเป็นมาของโครงการ เนื่องมาจากจำนวนร้านโชว์ห่วยหรือร้านในชุมชน ซึ่งเป็นตลาดที่อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุดและอยู่กับสังคมไทยมานาน มีจำนวนกว่า 3 แสนร้านค้าทั่วประเทศ สินค้าที่ขายดี เช่น กระทิงแดง หรือ มาม่า ก็จำหน่ายอยู่ในร้านค้านี้ทั้งนั้น โอทอปของเราเคยมุ่งแต่จะไปสู่สากล แต่ก็ยังมีโอทอปที่อยู่ ในระดับกลาง ระดับล่างจำนวนมาก เข่น น้ำพริกไข่ต้ม ไข่เค็ม ต่างๆ ตลาดพวกนี้เป็นตลาดที่ใหญ่มาก และขายราคาไม่แพง และคู่แข่งจริงๆ ที่ชัดเจนยังไม่มี และผู้ประกอบการขนาดยักษ์ใหญ่เอง ก็โฟกัสตลาดเหล่านี้เป็นหลักไม่ใช่ในโมเดิร์นเทรด ผมมองว่า นี่เป็นโอกาสช่องทางการตลาดที่สำคัญ เพราะในขณะที่ทุกคนมุ่งสู่แต่ข้างบน แต่เราจะย้อนกลับ สวนทางกลับสู่ตลาดชุมชน ซึ่งเป็นตลาดที่เราสามารถกำหนดได้เอง โดยที่ทุกร้านเต็มใจที่จะเอาสินค้าไปวาง เพราะเขาไม่ต้องไปซื้อที่ตัวเมือง เสียค่าขนส่งที่จะเป็นต้นทุนให้กับร้านค้า ถ้าเราเอาสินค้าพวกนี้เข้าไปจำหน่ายในร้านค้าชุมชนได้ ทุกคนจะชอบเพราะไม่ต้องเสียค่าขนส่ง ยกตัวอย่างล่าสุดของอ่างทอง ก็มีการนำร่องซึ่งในขณะนี้จำหน่ายอยู่ที่ประมาณ 30 – 40 ร้านค้า โดยการปรับตัว ลองผิด ลองถูก และก็มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ หากทุกจังหวัดสามารถทำได้จังหวัดละ 200 – 300 แห่ง หรือ 500 แห่งได้ หรือทั้งประเทศเป็นหมื่นร้านค้าได้ก็จะส่งผลดี เพราะเราไม่ต้องนำสินค้าไปจำหน่ายในห้าง เสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มากมาย เพราะฉะนั้นโครงการนี้ จะเป็นโครงการที่จะกระจายสินค้าสู่ชุมชน ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องใหม่ของกรมการพัฒนาชุมชน และสามารถช่วยชาวบ้านได้ ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เป็นพื้นฐาน เช่น ข้าวสาร ผัก น้ำพริกก็จะสามารถจำหน่ายได้ หากทุกจังหวัดนำเอาแนวคิดนี้ไปทำให้เข้มแข็งเหมือนที่อ่างทองได้ริเริ่มทำ โดยเป็นการร่วมกันระหว่างบริษัทประชารัฐ โอทอปเทรดเดอร์ หอการค้า ผู้ประกอบการ ที่มาหารือกันว่าจะทำอย่างไรเพื่อที่จะผลิตสินค้าเอาเข้าไปขายตรงนี้ได้ ยิ่งในภาวะขณะนี้ เรายิ่งเห็นชัดเจน ว่าร้านโชว์ห่วยหรือร้านชุมชนมีผลมาก
สำหรับโครงการนี้ องค์การตลาดก็จะได้เข้ามาช่วยเหลือ ในส่วนที่จะไปรับซื้อผู้ประกอบการ โดยเงินทุนขององค์การตลาด ทำให้ผู้ประกอบการเกิดรายได้ หลังจากนั้นองค์การตลาดก็นำมาจำหน่ายต่อกับให้โอทอป เทรดเดอร์ โดยอาจจะให้เครดิตในการชำระ ซึ่งจุดนี้ก็จะทำให้โอทอปเทรดเดอร์ไม่ต้องรับภาระหนักในเรื่องของการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียน ในขณะเดียวกันวงจรการจำหน่ายก็จะสามารถหมุนได้อย่างรวดเร็วและช่วยเหลือผู้ประกอบการได้เป็นจำนวนมาก อันนี้เป็นระบบโครงสร้างที่เราได้สร้างและทดลองทำ เกิดผลที่ชัดเจน ขอบคุณครับ …นายวัชรพงศ์ กล่าว