ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ได้รับเกียรติให้เป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ร่วมจัดงานสัมมนา Halal Sector Forum 2023 หรือ HSF2023 ภายใต้แนวคิด “Resiliency of Halal Sectors Towards National Socio-Economy” การปรับตัวของธุรกิจฮาลาลในยุคพลวัตสู่เศรษฐกิจเพื่อสังคมแห่งชาติ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-14 กันยายน 2566 โดย Halal Development Corporation Berhad (HDC) ซึ่งเป็นหน่วยงานเพื่อการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาล ภายใต้กระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรม (MITI) ประเทศมาเลเซีย วัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้เพื่ออัพเดทความรู้เกี่ยวกับเมกะเทรนด์ระดับโลก นวัตกรรม โอกาสการค้าการลงทุน และการจ้างงาน ตลอดจนแนวทางการเสริมสร้างอุตสาหกรรมฮาลาลเพื่อการเติบโตในอนาคต โดยในงานสัมมนาครั้งนี้ ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ได้รับเชิญขึ้นเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ถึงบทบาทและการดำเนินกิจการของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในหัวข้อ การส่งเสริมการลงทุนฮาลาลควบคู่ ESG ซึ่งมีผู้ประกอบการ SMEs หน่วยงานกำกับ นักวิจัย นักธุรกิจ ในอุตสาหกรรมฮาลาล ตลอดจนผู้สนใจร่วมรับฟังจากนานาประเทศราว 500 คน ณ ศูนย์แสดงสินค้าและนิทรรศการนานาชาติมาเลเซีย (MITEC) กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
“การดำเนินกิจการตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยได้ผ่านความท้าทายมากมายในการเป็นสถาบันการเงินเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ให้บริการทางการเงินตามหลักชะรีอะฮ์ (หลักศาสนาอิสลาม) ธนาคารมีตลาดเฉพาะ (Niche Market) ที่ชัดเจน บริหารงานอย่างสมดุลระหว่างการดำเนินพันธกิจในฐานะธนาคารของรัฐ และการดำเนินธุรกิจให้เติบโต รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนธนาคารมาโดยตลอดจากการถือหุ้นเพิ่มทุน ปัจจุบันกระทรวงการคลังถือหุ้นธนาคารเกือบ 100% ทั้งนี้เพื่อให้พี่น้องมุสลิมในประเทศไทยได้มีธนาคารที่ฮาลาลในการทำธุรกรรมทางการเงินอย่าง
ถูกต้องตามบทบัญญัติของศาสนา ธนาคารมีเครือข่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยสาขาประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดอยู่ทางภาคใต้ รองรับลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม พร้อมด้วยบริการทางการเงินพื้นฐานที่ครบครัน อาทิ เงินฝาก สินเชื่อ ประกันตะกาฟุล และอื่นๆ” ดร.ทวีลาภ กล่าว
ในช่วงสัมมนา ดร.ทวีลาภ ได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการนำหลักการ ESG มาปรับใช้ สรุปได้ว่า
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยมีหลักชะรีอะฮ์เป็นทุน จึงมีการวางวิสัยทัศน์ที่จะเป็น “สถาบันการเงินที่ให้บริการตามหลักชะรีอะฮ์ เพื่อความยั่งยืน” การที่ธนาคารให้บริการตามหลักชะรีอะฮ์ จึงทำให้มีการใช้แนวความคิดเกี่ยวกับ ESG ซึ่งสอดคล้องกับหลักชะรีอะฮ์มาปรับใช้ก่อนที่แนวความคิดเกี่ยวกับ ESG จะเกิดขึ้น ซึ่งเมื่อเอ่ยถึงหลักชะรีอะฮ์และ ESG จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 หลักการ มีแนวคิดร่วมกันในเรื่องของความโปร่งใส ความยุติธรรม และเป้าหมายในการสร้างผลลัพธ์ที่ดีทางสังคม หากเรานำหลักชะรีอะฮ์และ ESG ที่ส่งเสริมกันมาปรับใช้ในการประกอบธุรกิจก็จะทำให้ธุรกิจมีความแข็งแกร่งและยั่งยืนได้
โดยในช่วงปีที่ผ่านมา ธนาคารได้ให้การสนับสนุนโครงการและกิจกรรมที่คำนึงถึงหลักการด้าน ESG มาอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น
ด้านสิ่งแวดล้อม ธนาคารประกาศนโยบายไม่สนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจทำลายสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี 2565 และให้การสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจพลังงานหมุนเวียนแทนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ตัวอย่างเช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ทำพลังงานหมุนเวียนโดยมีส่วนร่วมกับชุมชนในพื้นที่อย่างยั่งยืนนอกจากนี้ธนาคารยังปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้จัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์พลังงานไฟฟ้า และรถบรรทุกเคลื่อนย้ายรถยนต์ใช้พลัง งานธรรมชาติ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษต่างๆ มีการอนุมัติสินเชื่ออัตราพิเศษให้แก่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาสำหรับการติดตั้งแผงโซลาร์ซึ่งสามารถช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าต่อเดือนได้อย่างคุ้มค่า
ด้านสังคม การบริหารจัดการซะกาต (การบริจาคตามหลักศาสนาอิสลาม) เป็นหนึ่งภารกิจที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ถือเป็นเครื่องมือในการขจัดความยากจนและลดความ
เหลื่อมล้ำในสังคมมุสลิม โดยธนาคารให้บริการลูกค้าที่มีฐานะต้องจ่ายซะกาต กระจายไปสู่บุคคลฐานะขัดสนและสมควรได้รับซะกาตเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน สินเชื่อชุมชนซื่อสัตย์ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ธนาคารเข้าไปทำงานร่วมกับผู้นำชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนที่ประกอบอาชีพด้วยความซื่อสัตย์แต่ไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินในระบบปกติได้ ให้มีแหล่งเงินพัฒนาอาชีพให้ดีขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยหนี้นอกระบบ นอกจากนี้ธนาคารยังได้สนับ สนุนสินเชื่อโรงพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อช่วยยกระดับการสาธารณสุขในพื้นที่ รองรับสังคมผู้สูงอายุ และให้ประชาชนในพื้นที่และใกล้เคียงได้รับการรักษาพยาบาลที่มีมาตรฐานในอัตราที่เข้าถึงได้
ด้านธรรมาภิบาล ธนาคารบริหารจัดการธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญต่อการดำเนินงานของธนาคาร ธนาคารกำหนดนโยบาย ทิศทาง และแนวทางในการพัฒนาองค์กรเพื่อให้ผู้บริหารและพนักงานดำเนินงานได้อย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจน สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และพัฒนาบริการใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า มีการบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดผลกระทบเชิงลบต่อผู้ถือหุ้นตลอดจนหน่วยงานกำกับดูแล และสานความสัมพันธ์กับชุมชนเพื่อให้การดำเนินงานราบรื่น นอกจากนี้ธนาคารยังสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่โปร่งใส มีนโยบายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน พร้อมรับผิด และมีคุณธรรมในการทำงาน โดยด้านธรรมาภิบาล ธนาคารถือว่าสำคัญที่สุดในหลัก ESG เพราะถ้ามุ่งเน้นความมีธรรมาภิบาลแล้ว การปฏิบัติงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมก็จะทำได้ไม่ยาก
ด้านเศรษฐกิจฮาลาลในประเทศไทย มีศักยภาพการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นตลาดอาหารฮาลาล การท่องเที่ยวฮาลาล การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ การแต่งกายมุสลิม และตลาดการเงินการลงทุนตามหลักชะรีอะฮ์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นสถาบันการเงินที่ให้แหล่งทุนฮาลาลที่จะทำให้กระบวนการผลิตมีมาตรฐานฮาลาลตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยได้มีการทำงานร่วมกับหลายองค์กร เช่น คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้ได้รับเครื่องหมายมาตรฐานฮาลาล นอกจากนี้ธนาคารยังได้ลงนามความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และสถาบันฮาลาลของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาสินค้าฮาลาลของผู้ประกอบการสู่ความเป็นเลิศและสามารถยกระดับมาตรฐานสู่การส่งออกยังตลาดเป้าหมาย เพื่อรองรับความต้องการที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นต่อเนื่อง
“จากสถานการณ์โลกที่มีความผันผวนและส่งผลต่อสภาวะเศรษฐกิจตลอดเวลา ผู้ประกอบการควรวางแผนที่จะปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินกิจการในแบบของตัวเอง ควบคู่กับการนำหลักการ ESG มาปรับใช้ เพื่อให้องค์กรเติบโตในระยะยาวอย่างยั่งยืนต่อไป” ดร.ทวีลาภ กล่าวทิ้งทาย