จี้เพิ่มบทลงโทษหนัก “เมาแล้วขับกระทำผิดซ้ำ”

เพิ่มโทษหนัก “เมาแล้วขับ-ทำผิดซ้ำซาก” สสส.สานพลังภาคี 8 องค์กรจี้รัฐบาลแก้กฎหมาย “เมาแล้วขับกระทำผิดซ้ำ” หนุนเพิ่มบทลงโทษหนัก เข้มข้น จริงจัง พร้อมเสริมศักยภาพเทคโนโลยียกระดับการลดอุบัติเหตุทางถนนไทยอย่างทั่วถึงยั่งยืน

Advertisement

เมื่อเร็วๆนี้ ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดย สสส.ร่วมกับ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศาลยุติธรรม กรมคุมประพฤติ มูลนิธิเมาไม่ขับ เครือข่ายเหยื่อเมาไม่ขับ ภาคีเครือข่ายด้านการรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุเมาแล้วขับของไทย จัดกิจกรรม “ครบรอบ 2 ปี กระทำผิดซ้ำเมาแล้วขับ กับ การบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทย” ยกระดับการลดอุบัติเหตุทางถนนจากการดื่มแล้วขับไทยร่วมกับภาคีเครือข่าย

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนจาก “ดื่มแล้วขับ” เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ โดยข้อมูลสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของไทยตั้งแต่ปี 2562-2566 มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากดื่มแล้วขับ 284,253 ราย เฉลี่ยปีละ 56,850 ราย มูลค่าความสูญเสีย 3.7 แสนล้านบาท โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต เฉลี่ยถึง 4,519 ราย ผลกระทบสำคัญคือ “เหยื่อจากผู้ดื่มแล้วขับ” มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นทุกปี เฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 มีเหยื่อจากผู้ดื่มแล้วขับ มากถึง 207 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 1 ราย จำเป็นต้องเร่งมาตรการลงโทษผู้กระทำความผิดโดยเฉพาะความผิดซ้ำ ซึ่งมีข้อเสนอเชิงนโยบายเป็น 3 ระยะ 1.ระยะสั้น ภายใน 6 เดือน ออกแบบระบบตรวจสอบและประชาสัมพันธ์ สนับสนุนให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประสานหน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมออกแบบระบบออนไลน์ที่เชื่อมโยงกัน ตรวจสอบประวัติกระทำผิดซ้ำ 2.ระยะกลาง ภายใน 1 ปี ผลักดันด้านเทคโนโลยีสนับสนุนการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แก่ เครื่องเป่าวัดแอลกอฮอล์อย่างน้อย 15,000 เครื่อง พัฒนาระบบการตรวจสอบและยืนยันบุคคลผ่านลายนิ้วมือออนไลน์ทั่วประเทศ 3.ระยะต่อเนื่อง มากกว่า 1 ปี ผลักดันเพิ่มโทษสร้างความเกรงกลัวไม่ให้กล้ากระทำผิดซ้ำ สนับสนุนให้มีการแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 ตรี นำปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายที่ตรวจวัดได้ในแต่ละระดับมาเป็นบทกำหนดโทษที่ผู้กระทำความผิดได้รับ

นายสุรสิทธิ์ ศิลปงาม ผู้จัดการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า ในแต่ละปีจะมีเหยื่อจากเมาแล้วขับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงเทศกาล หลายราย สูญเสียอวัยวะ เสียโอกาสในการดำเนินชีวิตที่สำคัญ ต้องไปดำเนินการฟ้องร้องเรียกร้องความเป็นธรรมเพื่อเยียวยาผลกระทบที่ตนเองไม่ได้ก่ออย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งกฎหมายเมาแล้วขับกระทำผิดซ้ำใช้มาไม่ต่ำกว่า 2 ปี แต่ยังไม่สามารถสร้างความเกรงกลัวได้ จึงต้องเสริมด้วยระบบการจัดการและการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้น มีเจ้าภาพหลักที่ค่อยกำกับตรวจสอบอย่างต่อเนื่องเรียกว่า “ความเกรงกลัวในการกระทำผิดกฎหมาย” ประกอบด้วย 1.ไม่รอดในการจับกุมเมื่อกระทำผิด 2.ต้องถูกลงโทษหนักในทุกครั้งทุกกรณี ต้องยกมาตรการให้เข้มข้นเพิ่มขึ้น ด้วยระบบการจัดการและเทคโนโลยีที่มีความรวดเร็ว เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการดื่มของสังคมไทย

ดร.ชนินทร์ จักรภพโยธิน วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า ในการเพิ่มโทษหรือคุมประพฤติแก่ผู้ที่กระทำผิดซ้ำดื่มแล้วขับแล้วขับ ควรให้มีการนำระบบ Alcohol interlock เข้ามาเป็นเงื่อนไขการคุมประพฤติควบคู่กับการรอการลงโทษ เป็นเครื่องมือช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ขับรถสตาร์ทรถได้ หากผู้ขับมีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายระดับที่สูงกว่าจะปลอดภัยในการขับรถ โดยผู้ขับขี่จะต้องเป่าลมเข้าไป ก่อนจะสตาร์ทรถทุกครั้ง และนำอุปกรณ์ Alcohol interlock มาใช้กับผู้ขับขี่รถยนต์โดยสาร รถขนส่ง ทุกรูปแบบที่ติดตั้งอุปกรณ์ได้ ตลอดจนให้ทำความเข้าใจบทบัญญัติกฎหมายในเรื่องการกระทำผิดซ้ำดื่มแล้วขับ เจตนารมณ์ของกฎหมายมาตรานี้ และพิจารณาให้มีระบบเปิดเผยข้อมูลประวัติกระทำผิดซ้ำออนไลน์ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบบุคคลได้

พ.ต.ท.พชร์ ฐาปนดุลย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายของตำรวจไทย เพิ่มความเข้มงวด และ จับกุมผู้กระทำผิดเมาแล้วขับมาอย่างต่อเนื่องเห็นได้จากจำนวนคดีผู้กระทำผิดเมาแล้วขับที่สูงเพิ่มขึ้นทุกปี แต่อย่างไรก็ดี ก็ต้องมีการพัฒนาระบบการจัดการ เครื่องมือ อุปกรณ์ ระบบฐานข้อมูลเชื่อมโยง เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์และผู้ที่กระทำผิดเมาแล้วขับ ที่เพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่องเช่นกัน

นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า สำนักงานคุ้มครองสิทธิ และช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน สำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมทำหน้าที่ในการช่วยเหลือเหยื่อเมาแล้วขับในการเรียกร้องความเป็นธรรมตามคำสั่งศาล ซึ่งมีหน่วยงานอยู่ทั่วประเทศ พร้อมทำงานสนับสนุนอย่างเต็มที่ ในส่วนของกระบวนการในการพิจารณาคดีกระทำผิดซ้ำ ต้องมีการหารือร่วมกันเพื่อกำหนดกระบวนการที่ชัดเจน และไม่ปล่อยให้คนที่กระทำผิดซ้ำ หลุดออกจากการพิจารณาคดี และสิ่งสำคัญต้องเร่งสร้างเรื่องนี้ให้เป็น “สำนึกรับผิดชอบต่อสังคม”