Quick Win 90 วัน “ปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นคงทางอาหาร” ทางรอดยามวิกฤติ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID–19 ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยและประชาชนทั่วโลก ระบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ต้องชะงักงัน หลายบริษัทต้องปิดตัวลง สินค้าอุปโภคบริโภคกระทบหนัก ประชาชนตื่นตระหนกถึงความไม่มั่นคงในชีวิต ความหวาดกลัวที่จะขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค ดังปรากฏการณ์ที่แย่งกันซื้อของในห้างสรรพสินค้าเพื่อกักตุน

Advertisement

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานแนวทางการสร้างพื้นฐานความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชน เพื่อให้ประชาชนพึ่งตนเองได้ ซึ่งเป็นแนวทางของการดำรงชีวิตแห่งความพอเพียง อันจะนำมาซึ่งความสุขอย่างยั่งยืน

กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จึงได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นหลักการทำงานมาโดยตลอด จนถึงยุคปัจจุบันก็ยังคงยึดมั่นหลักการดังกล่าวอย่างเข้มแข็ง ดังนั้น ภารกิจที่กรมการพัฒนาชุมชนขับเคลื่อนจึงฉายภาพคุณประโยชน์ที่ชัดเจนขึ้นทันทีเมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 นำมาสู่ปฏิบัติการ “Quick Win” 90 วัน “ปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นคงทางอาหาร” ที่ทุกครัวเรือนสามารถทำได้พร้อมกันทั่วประเทศ

“เราส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนลดรายจ่ายด้วยการปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ โดยบุคลากรของกรมฯ เริ่มที่ตัวเองก่อน เพื่อเป็นแบบอย่าง ก่อนจะขยายไปยังภาคส่วนอื่นๆ” เป็นถ้อยคำของ “นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กล่าวไว้ในช่วงแรกของการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ 90 วัน “ปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นคงทางอาหาร” ซึ่งขณะนี้ผ่านไปแล้วราว 1 เดือนของแผนปฏิบัติการดังกล่าว และเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่สังคมไทยและสังคมโลกกำลังเผชิญอยู่ และน่าเชื่อว่าสามารถตอบโจทย์เศรษฐกิจระดับครัวเรือนได้เป็นอย่างดี

อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้เน้นย้ำหลักการสำคัญ 5 ประการของปฏิบัติการครั้งนี้ คือ “จะพัฒนาใครเขา ต้องเริ่มจากตัวเราก่อน” ดังนั้นเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนทุกระดับชั้นจึงเริ่มก่อนด้วยการปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้อย่างน้อย 5 ชนิด ต่อด้วย “ผู้นำต้องทำก่อน” ด้วยการขอความร่วมมือตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด ไปจนถึงผู้นำในชุมชนต่างๆ ร่วมปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้เป็นแบบอย่าง จากนั้น “ผนึกกำลัง ตั้งระบบ ทำให้ครบวงจร” บูรณาการกับทุกภาคส่วน วางแผนการขับเคลื่อนร่วมกัน แล้วตามด้วย “ส่งเสริมการปลูกผักสวนครัว เข้าถึงทุกครัวเรือน” ส่งทีมปฏิบัติการหมู่บ้านลงไปแนะนำและกระตุ้นปฏิบัติการ และสุดท้ายต้อง“สร้างเครือข่ายขยายผล” เชื่อมโยง แบ่งปันเมล็ดพันธุ์หรือต้นกล้าในชุมชน รวมกลุ่มนำผลผลิตที่เหลือจากการบริโภคไปทำบุญ ทำทาน แบ่งปัน ไปแปรรูป และจำหน่าย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความยั่งยืนได้

“ทุกครัวเรือนสามารถทำได้ทันที เราปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก ช่วยลดรายจ่ายเท่ากับเพิ่มรายได้ มีอาหารปลอดภัยกินในครัวเรือนและน่าดีใจที่มีภาคเอกชนอย่างบริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด (ศรแดง)  และ บริษัท เจียไต๋ จำกัด ร่วมให้การสนับสนุน  เมล็ดพันธุ์ผัก และเพื่อเก็บภาพแห่งความสุขของการปลูกพืชผักสวนครัว มาร่วมแชร์ภาพผ่านทางFacebook กลุ่ม ปลูกพืช ปลูกผัก ปลูกรัก กับ พช. และร่วมเป็นกำลังใจให้กัน ช่วยกันสร้างความมั่นคงทางอาหารไปด้วยกันครับ” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าวทิ้งท้าย