ในความหวังของประเทศไทยเกี่ยวกับเรื่อง “สินค้าส่งออก” ซึ่งเป็นที่สร้างชื่อ และเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศคู่ค้า “สินค้าไทยประเภทได้รับการออกแบบ” ที่เติมเต็มด้วย เอกลักษณ์ อัตลักษณ์ และประสานด้วย “นวัตกรรม” จัดเป็นอีกหนึ่งในประเภทสินค้าที่ตลาดให้การยอมรับ และผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพสูงในการผลิตสินค้าประเภทนี้ทั้งระดับภูมิภาค และระดับโลก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19ได้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนรวมถึงตลาดส่งออกของไทย แต่กับ “สินค้าประเภทได้รับการออกแบบ” จากประเทศไทยก็ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และมียอดการเติบโตที่ดี
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ( DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงทิศทางแนวโน้ม “สินค้าประเภทได้รับการออกแบบ” ว่า “ในเรื่องของการดีไซน์ เป็นตัวช่วยในการสร้างโอกาสของสินค้าไทยในตลาดโลก โดยเฉพาะในปัจจุบัน ที่มีเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสำหรับตลาดส่งออก ซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมเลือกใช้เลือกซื้อสินค้าเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การป้องกันตัวเองจากโรคไวรัสโควิด-19 การทำงานแบบเวิร์คฟอร์มโฮม ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการบริโภคสินค้าประเภทต่างๆ

ดังนั้นในส่วนนี้ การที่จะทำให้สินค้าโดดเด่นและมีความแตกต่าง จึงเป็นเรื่องที่จะต้องช่วยกระตุ้นการดึงดูดผู้บริโภค ซึ่งสินค้าที่ออกแบบโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ การนำเอานวัตกรรมเข้ามามีส่วนในการพัฒนาสินค้า รวมถึงการสร้างแบรนด์ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จะช่วยสร้างให้สินค้ามีความโดดเด่นและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์การสร้างความรับรู้ของผู้บริโภค ทำให้มีความเข้าใจและมีความรู้สึกต่อสินค้าของไทย มีความโดดเด่น ความแตกต่างและมีความน่าสนใจในเรื่องดีไซน์ และนวัตกรรม ซึ่งผู้ประกอบการและนักออกแบบก็จะต้องมีการเรียนรู้จากสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยการรวบรวมข้อมูล นำเอามาปรับให้เข้ากับการออกแบบและพัฒนาสินค้า เพื่อให้เข้าถึงและตรงกับความต้องการของผู้บริโภคให้มากที่สุด” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าว
ในตลาดโลก สินค้าไทย ซึ่งแต่เดิมมีชื่อเสียง และได้รับการยอมรับจากลูกค้าในต่างประเทศอยู่แล้ว เพราะมีความโดดเด่นทั้งทางด้านดีไซน์ มีเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ รวมถึงยังมีการปรับเปลี่ยนเอานวัตกรรมเข้าไปช่วยสร้างความน่าสนใจ แต่จากช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมลูกค้า ผู้บริโภคที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด นอกเหนือจาก เรื่องของการพัฒนาตัวสินค้าให้ตรงกับโจทย์ของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ยังต้องสร้าง “กลยุทธ์” เพื่อตลาดสินค้าประเภทนี้ของไทย ยังคงเป็น “สินค้ายอดนิยม” และได้รับความนิยมจากลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวต่ออีกว่า “สิ่งสำคัญในการสร้างความนิยมอย่างต่อเนื่อง คือเรื่องของการแสวงหาตลาด ซึ่งในปัจจุบันตลาดหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของสินค้าที่มีประโยชน์ใช้สอย คงไม่ใช่เรื่องของการพัฒนาจากรูปแบบดีไซน์เพียงอย่างเดียว อย่างในงาน DEmark Award ซึ่งในส่วนของคณะกรรมการที่คัดเลือกหรือตัดสิน ก็จะเน้นในเรื่องของความสวยงาม ฟังก์ชั่น มีการนำเอาเรื่องของเซอร์คูล่าอีโคโนมี รวมถึงกรีนอีโคโนมี ไบโออีโคโนมี เข้ามามีส่วนในการส่งเสริมสินค้าไทยให้ได้รับการยอมรับ และส่งเสริมการสร้างตลาดใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป
จากการที่มีโครงการ DEmark Award ต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 ซึ่งจะเน้นความสำคัญในเรื่องของการออกแบบ นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ที่มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวด 100 กว่าราย และในปัจจุบันมีผู้สนใจเข้าร่วมส่งผลงานเข้าประกวดถึงกว่า 425 ผลงานจากทั่วประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เห็นถึงพัฒนาการของผู้ประกอบการ นักออกแบบ และสินค้าไทย ที่มุ่งเป้าไปในเรื่องของการตอบโจทย์ของตลาด และส่งผลให้การหาตลาดใหม่ๆ เป็นไปได้อย่างสะดวกมากขึ้น เพราะมีความหลากหลายในเรื่องของสินค้ามากยิ่งขึ้น อันเป็นกลยุทธ์สำคัญในการค้าระหว่างประเทศและการส่งออกของสินค้าไทยเป็นไปอย่างยั่งยืน” นายสมเด็จ กล่าว
ส่วนในเรื่องของการยอมรับสำหรับสินค้าไทยในตลาดโลก และขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย “อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ” กล่าวเสริมในส่วนนี้ว่า “สินค้าเรื่องของการใช้ความคิดสร้างสรรค์ของไทยค่อนข้างเป็นที่รู้จัก และเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก นับเป็นจุดแข็งสำคัญ ซึ่งก็น่าที่จะมีการปรับใช้นำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามามีบทบาท ผสมผสานกับความต้องการของตลาดโลก ซึ่งต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการ และนักออกแบบของไทย มีความก้าวหน้าในเรื่องนี้ จนเป็นที่ยอมรับเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค และในระดับโลก โดยตลาดสำคัญๆ ของไทย มีอยู่ทั่วโลกใน และแต่ละตลาดจะมีผู้บริโภคให้ความสำคัญที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งการออกแบบให้ตอบโจทย์ตลาดในแต่ละภูมิภาค จึงเป็นกลยุทธ์ที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับสินค้าส่งออกของไทย ไม่ว่าจะเป็น ตลาด ญี่ปุ่น จีน อาเซียน หรือ แม้แต่ในยุโรป และอีกหลายภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งตลาดสินค้าประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มประเทศที่เจริญแล้ว จะให้ความสนใจเป็นพิเศษ
สำหรับการส่งเสริมตลาด และสินค้าประเทศนี้ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(DITP) ได้จัดงาน สร้างความเชื่อมั่น ส่งเสริมสินค้าไทยที่มีการออกแบบดี หรือ DEmark Award ต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 จัดนิทรรศการแสดงผลงานนักออกแบบไทยที่สมัครเข้ารับการพิจารณารางวัลภายใต้ชื่อ DEmark Show 2020 ระหว่างวันที่ 13 – 22 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การค้า ไอคอนสยาม ซึ่งได้รับความสนใจและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการไทย นักออกแบบ และสินค้าไทยให้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้มีการเตรียมการทั้ง “ตั้งรับ ปรับตัว และหาโอกาส” เพื่อหาแนวทางดูแลผู้ประกอบการซึ่งประกอบด้วยนโยบายเชิงรุกทั้งด้านการผลักดันและการฟื้นฟูความเชื่อมั่น มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรับกิจกรรมต่างๆ เข้าสู่รูปแบบดิจิทัล หรือ online มากขึ้น โดยมีทั้งช่องทางสายด่วน 1169 พร้อมให้คำปรึกษา มี DITP LINE / Facebook และ Application DITP Connect เพื่อที่จะสื่อสารและช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ในส่วนของกิจกรรม กรมได้นำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น อาทิ จัดสัมมนาให้ความรู้การติดต่อรับคำปรึกษากับทูตพาณิชย์ทั่วโลก กิจกรรมเจรจาการค้า กิจกรรมส่งเสริมการขาย งานแสดงสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไปสามารถติดตามข่าวสารและร่วมกิจกรรมเหล่านี้ โดยจะได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้วิธีการหรือรูปแบบการค้าใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจของผู้ประกอบการอีกด้วย”
ทั้งหมดนี้ นับเป็นการส่งเสริม และสร้างตลาด “สินค้าประเภทได้รับการออกแบบของไทย” ให้สามารถสร้างฐานการตลาดใหม่ๆ และเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภค จึงนับได้ว่า สินค้าประเภทนี้ เป็นอีกหนึ่งในความหวังของสินค้าส่งออกของไทย ในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 และเป็นตลาดส่งออกที่ยังมีความน่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการ และนักออกแบบไทย
สำหรับผู้สนใจขอข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ สำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(DITP) กระทรวงพาณิชย์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-5078278 หรือ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169